วันพุธที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การพัฒนาหลักสูตร (4)

หลักสูตรระยะสั้น
หลักสูตรระยะสั้น เป็นหลักสูตรที่สร้างขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเฉพาะเจาะจงเป็นเรื่อง ๆ เฉพาะอย่างสำหรับกลุ่มบุคคลบางกลุ่มเพื่อเพิ่มพูนความรู้หรือประสบการณ์ หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือทัศนคติของบุคคลไปในทางที่ต้องการ โดยใช้ระยะเวลาไม่ยาวนานนัก หลักสูตรระยะสั้นอาจหมายถึงหลักสูตรรายวิชาเลือกในโรงเรียนที่ครูสร้างขึ้น หลักสูตรฝึกอบรมเฉพาะเรื่องสำหรับบุคลากรในโรงเรียน หรือสำหรับผู้ปกครอง หรือคนในชุมชน หรือหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อบริการวิชาการหรือวิชาชีพให้แก่ชุมชน หรือหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับบุคลากรในหน่วยงานต่าง ๆ (วัชรี บูรณสิงห์ 2544, 189)
การจัดหลักสูตรระยะสั้น
การจัดหลักสูตรระยะสั้นหรือหลักสูตรฝึกอบรม มีขั้นตอนและกระบวนการพัฒนา (วัชรี บูรณสิงห์ 2544, 190-193) ดังนี้
1. สำรวจและวิเคราะห์หาความจำเป็นในการจัดหลักสูตรระยะสั้น  เป็นการศึกษาสภาพการณ์และค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ในหน่วยงานหรือในชุมชนว่า จำเป็นต้องให้บุคลากรหรือบุคคลต่าง ๆ มีความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์ หรือทักษะในเรื่องใดบ้างหรือไม่ หากมีแล้วจะช่วยแก้ปัญหาหรือก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านใดบ้าง จะช่วยให้การทำงานหรือชีวิตความเป็นอยู่ของบุคคลกลุ่มนั้น ๆ ดีขึ้นอย่างไร

2. กำหนดวัตถุประสงค์ของการจัดหลักสูตรระยะสั้นหรือหลักสูตรอบรม  ซึ่งวัตถุประสงค์หลัก ๆ ได้แก่ การให้ความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ ประสบการณ์ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการสร้างเจตคติในเรื่องที่ได้สำรวจพบในขั้นที่ 1 กำหนดจุดประสงค์ให้ตรงหรือสอดคล้องกับสภาพการณ์หรือปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ได้วิเคราะห์ไว้ และต้องชี้ชัดไปได้ว่า เมื่อเสร็จสิ้นการดำเนินการแล้วจะมีผลการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ผู้ที่เข้ามาเรียนตามหลักสูตรได้เรียนรู้หรือได้ประสบการณ์อะไรไปบ้าง
3. จัดทำโครงการ  โครงการเป็นแผนงานที่จัดทำขึ้นเพื่อให้การดำเนินงานนี้ไปสู่เป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ หากโครงการกำหนดไว้ดีก็คาดหมายได้ว่า ผลหรือวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ย่อมสำเร็จออกมาได้ด้วยดี การจัดทำโครงการต้องเขียนให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยในโครงการควรระบุหัวข้อหลัก ๆ เช่น ชื่อโครงการ หลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ เป้าหมาย วิธีดำเนินการ ระยะเวลาดำเนินการ งบประมาณ ผู้รับผิดชอบโครงการ ผู้เข้าร่วมโครงการ การประเมินผล และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ความชัดเจนของโครงการช่วยให้การพิจารณาอนุมัติทำได้ง่ายขึ้นและสะดวกต่อการดำเนินการ
4. สร้างและพัฒนาหลักสูตร  มีขั้นตอนและกระบวนการสร้างและพัฒนาดังนี้
            1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐาน
         - สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม
         - ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
         - ความจำเป็นและปัญหา
         - นโยบาย / แผนงานของหน่วยงาน
         - กลุ่มเป้าหมาย (ปริมาณและคุณภาพ)
         - องค์ความรู้
         - จิตวิทยาการเรียนรู้
            2) เตรียมการร่างหลักสูตร
         - แต่งตั้งคณะกรรมการร่างหลักสูตร
         - จัดเตรียมเอกสารและข้อมูลต่าง ๆ
         - กำหนดวันเวลาในการดำเนินการสร้างหลักสูตร
             3) สร้างและพัฒนาหลักสูตร
         - ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน
         - กำหนดเนื้อหาและรายละเอียด
         - เลือกกิจกรรมและประสบการณ์
         - กำหนดวิธีการประเมินผลและเกณฑ์การประเมิน
         - ให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ
             4) ใช้หลักสูตร
          - จัดทำวัสดุหลักสูตร
          - ประชาสัมพันธ์หลักสูตร
          - คัดเลือกวิทยากร
          - เตรียมสถานที่
          - ดำเนินการสอน / ฝึกอบรม
          - บริการหลักสูตร
          - นิเทศการใช้หลักสูตร
              5) ประเมินผลหลักสูตร
          - ประเมินผลหลักสูตร
          - ประเมินผลการใช้หลักสูตร
5. การวางแผนการบริหารหลักสูตร  เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการใช้หลักสูตร ซึ่งจะต้องพิจารณาองค์ประกอบการดำเนินงานในทุก ๆ ด้าน เช่น งบประมาณ สถานที่ อุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอน สภาพแวดล้อมภายในและภายนอก เป็นต้น ดังนั้นผู้รับผิดชอบหลักสูตรจะต้องมีการบันทึก ควบคุม และตรวจสอบงานแต่ละด้านนั้นใครเป็นผู้รับผิดชอบและดำเนินการไปแล้วอย่างไร
6. ดำเนินการใช้หลักสูตร  เป็นขั้นที่ดำเนินการตามโครงการของหลักสูตรที่ได้สร้างไว้ โดยมีบุคลากรฝ่ายต่าง ๆ รับผิดชอบงานที่มอบหมายไว้ล่วงหน้า ในขั้นตอนนี้ผู้บริหารโครงการต้องทำหน้าที่ประสานงาน อำนวยการ และควบคุมให้การใช้หลักสูตรบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้
7. ประเมินผลการใช้หลักสูตร  ควรพิจารณาอย่างเป็นระบบตั้งแต่การประเมินข้อมูลนำเข้า (Input) การประเมินกระบวนการ (Process) และการประเมินผลผลิต (Output)
8. ติดตามผลการดำเนินการตามโครงการ  ผู้บริหารโครงการควรได้ติดตามผลว่าผลผลิตของหลักสูตรได้นำความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเรียนหรือฝึกอบรมนี้ไปใช้บ้างหรือไม่ ใช้แล้วได้ผลมากน้อยเพียงใด เพื่อนำผลไปใช้ในการปรับปรุงโครงการต่อไป

การบริหารหลักสูตรระยะสั้น
การบริหารหลักสูตรระยะสั้นต้องใช้ปัจจัยการบริหารทั้ง 4 คือ คน เงิน วัสดุอุปกรณ์ และการจัดการ สำหรับสามปัจจัยแรกสามารถจัดหามาได้ไม่ยากนัก แต่ปัจจัยที่สี่ คือ การจัดการนั้นค่อนข้างจะจัดการได้ยากกว่าในหลักสูตรปกติ เนื่องจากหลักสูตรระยะสั้น หรือหลักสูตรฝึกอบรมมีช่วงระยะเวลาค่อนข้างสั้น การจัดการจึงต้องงทำให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดและต้องใช้การตัดสินใจ สั่งการที่รวดเร็ว  การประสานงานที่กระชับฉับไว รวมทั้งการจัดเตรียมงานทุกอย่างต้องพร้อมก่อนการดำเนินการ การบริหารหลักสูตรจึงต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการดำเนินการเป็นอย่างมาก ซึ่งงานต่าง ๆ ที่ต้องทำในการในการจัดหลักสูตรระยะสั้นหรือหลักสูตรฝึกอบรม (วัชรี บูรณสิงห์ 2544, 194-195) มีดังนี้
1. เสนอขออนุมัติหลักสูตรและงบประมาณจากผู้บังคับบัญชา
2. แต่งตั้งคณะทำงานฝ่ายต่าง ๆ
3. ติดต่อวิทยากรและทำหนังสือเชิญ
4. จัดทำการประชาสัมพันธ์หลักสูตร
5. รับสมัครหรือคัดเลือกผู้เรียนหรือผู้เข้ารับการอบรม
6. เลือกและจัดเตรียมสถานที่ อุปกรณ์ และจัดทำเอกสารประกอบหลักสูตรหรือเอกสารอบรม
7. จัดเตรียมพิธี เปิด-ปิด และมอบวุฒิบัตร
8. ต้อนรับและอำนวยความสะดวกแก่ผู้เรียน / ผู้เข้าอบรม และวิทยากร
9. จัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่มในช่วงดำเนินการ (ถ้ามี)
10. ติดต่อประสานงานการดูงานนอกสถานที่ การฝึกปฏิบัติในหน่วยงานภายนอกล่วงหน้า (ถ้ามี)
11. เตรียมเอกสารการทดสอบ และการประเมินผลหลักสูตรหรือโครงการฝึกอบรม
12. รวบรวมหลักฐานด้านการเงินและงบประมาณ และสรุปผลการดำเนินงานเสนอผู้บังคับบัญชา
13. ทำหนังสือขอบคุณวิทยากร

สรุป
หลักสูตรระยะสั้นหรือหลักสูตรการฝึกอบรมนั้น เกือบทุกหน่วยงานมักกระทำอยู่เป็นประจำ อาจมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง หรืออาจแต่งตั้งกรรมการเฉพาะกิจทำงานเป็นครั้ง ๆ ก็ได้ การสร้างหรือการพัฒนาหลักสูตรมีขั้นตอนเช่นเดียวกับหลักสูตรทั่วไป การบริหารหลักสูตรระยะสั้นต้องอาศัยหลักการบริหารทั่วไป คือ การวางแผน การจัดหน่วยงาน การอำนวยการและการควบคุม แต่เนื่องจากมีช่วงระยะเวลาสั้น การบริหารหลักสูตรจึงต้องอาศัยการดำเนินงานที่รวดเร็ว การตัดสินใจหรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ถูกต้องและการประสานงานที่ดี

แหล่งอ้างอิง :
         วัชรี  บูรณสิงห์. 2544. การบริหารหลักสูตร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์
มหาวิทยาลัยรามคำแหง.




การพัฒนาหลักสูตร (3)

กระบวนการพัฒนาหลักสูตร
  ในการสร้างหรือพัฒนาหลักสูตร มิใช่ว่าใครนึกอยากจะสร้างก็ลงมือเขียนหลักสูตรได้เลย หลักสูตรมิได้เกิดจากความต้องการของผู้สร้างหลักสูตร หรือจากคนใดคนหนึ่ง หลักสูตรจะมีจุดเริ่มต้นมาจากความต้องการของสังคมและชุมชน โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้หลักสูตรเป็นสื่อในการพัฒนาคน ดังนั้นการสร้างหลักสูตรจึงต้องมีการดำเนินการเป็นกระบวนการ (นิรมล ศตวุฒิ และคณะ 2546, 11)
          กระบวนการพัฒนาหลักสูตรประกอบด้วยขั้นตอน ซึ่งต้องทำให้สำเร็จตามลำดับ เพื่อให้โครงการพัฒนาหลักสูตรมีความสมบูรณ์ งานที่ต้องทำในแต่ละขั้นตอนมีความหลากหลาย แต่มีกำหนดผลที่แน่นอนเอาไว้ กระบวนการพัฒนาหลักสูตรเป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องและเป็นวัฎจักรมากกว่าจะเป็นกิจกรรมที่ทำต่อกันเป็นเส้นตรง เป็นกิจกรรมที่เป็นพลวัตรมากกว่าจะเป็นกิจกรรมที่คงที่ ซึ่งสามารถสรุปกระบวนการพัฒนาหลักสูตร (นิรมล ศตวุฒิ 2543, 20 - 23) ได้ดังนี้

ขั้นตอนการร่างหลักสูตร (ขั้นที่ 1 – 4)
ขั้นที่ 1  การวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน
เป็นการวิเคราะห์ปรัชญาการศึกษา จิตวิทยาการเรียนรู้ ผู้เรียน สังคม และเนื้อหาความรู้
- การวิเคราะห์ปรัชญาการศึกษา และจิตวิทยาการเรียนรู้ มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดของนักปรัชญาและนักจิตวิทยา แล้วนำแนวคิดเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาหลักสูตร
- การวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้เรียน มีจุดประสงค์เพื่อพิจารณาความต้องการของผู้เรียนและพัฒนาหลักสูตรให้สนองตอบความต้องการเหล่านั้น
- การวิเคราะห์ข้อมูลทางสังคม เพื่อศึกษาสภาพสังคมในปัจจุบันและอนาคตทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง วัฒนธรรม ระบบครอบครัว ค่านิยมของสังคม รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมแล้วนำมาพัฒนาหลักสูตรที่เตรียมผู้เรียนให้พร้อมที่จะไปดำรงชีวิตและปฏิบัติในสังคมนั้น
- การวิเคราะห์เนื้อหาความรู้ เพื่อศึกษาลักษณะธรรมชาติของเนื้อหาความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางวิทยาการเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการพัฒนาหลักสูตรทประกอบด้วยเนื้อหาความรู้ที่ทันสมัย
ขั้นที่ 2  กำหนดหลักการและจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
เป็นการนำข้อมูลพื้นฐานที่วิเคราะห์และรวบรวมได้ในขั้นที่ 1 มาเป็นแนวคิดและตัวชี้นำในการกำหนดเป้าหมายของหลักสูตรในหลักการ และกำหนดคุณลักษณะของผู้เรียนจบหลักสูตรในจุดมุ่งหมายให้ชัดเจนว่าจะมีความรู้ ทักษะ แนวคิดอะไร มีเจตคติอย่างไร สามารถทำอะไรได้ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างไร
ขั้นที่ 3  เลือกและจัดเนื้อหาและประสบการณ์ในหลักสูตร
- เลือกและจัดเนื้อหาและประสบการณ์ที่ช่วยเอื้อให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะตามที่คาดหวังไว้ในจุดมุ่งหมายของหลักสูตร หรือบรรลุจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
- จัดทำโครงสร้างหลักสูตร ประกอบด้วยรายวิชา หรือหัวเรื่องของเนื้อหา และเวลาเรียน
- จัดทำคำอธิบายของเนื้อหาของแต่ละรายวิชา หรือแต่ละหัวเรื่อง
ขั้นที่ 4  กำหนดแนวทางการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และแนวทางการประเมินหลักสูตร
- การกำหนดแนวทางการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นการกำหนดวิธีการประเมินผลพร้อมทั้งเครื่องมือที่ใช้ในการวัดและประเมินได้ว่าผู้เรียนมีคุณลักษณะตามที่คาดไว้ในจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
- การกำหนดแนวทางการประเมินหลักสูตร เป็นการกำหนดรูปแบบที่จะใช้ในการประเมินหลักสูตร หรือวิธีการที่จะใช้ในการประเมินหลักสูตร

ขั้นตอนหลังจากการร่างหลักสูตร (ขั้นที่ 5 – 8)
ขั้นที่ 5  ตรวจสอบคุณภาพหลักสูตรและปรับแก้ก่อนนำไปใช้
เป็นขั้นที่นำหลักสูตรที่ร่างเสร็จแล้วไปตรวจสอบ ซึ่งมีวิธีการตรวจสอบได้หลายวิธี เช่น การใช้รูปแบบการตรวจสอบคุณภาพหลักสูตร การตรวจสอบกับลักษณะของหลักสูตรที่ดี การตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญหรือคณะกรรมการ หรือวิเคราะห์แต่ละองค์ประกอบของหลักสูตรเพื่อพิจารณาความเหมาะสม เป็นต้น แล้วนำผลการตรวจสอบมาปรับปรุงแก้ไขร่างหลักสูตรให้ดีขึ้น เตรียมพร้อมที่จะนำไปใช้
ขั้นที่ 6  นำหลักสูตรไปใช้
เป็นขั้นที่นำหลักสูตรที่ตรวจสอบคุณภาพและแก้ไขให้สมบูรณ์แล้วไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน โดยใช้วิธีการต่าง ๆ ที่มั่นใจว่าได้มีการใช้หลักสูตรอย่างเหมาะสม เช่น วางแผนการสอน ทดสอบก่อนเรียน จัดการเรียนการสอนและบริหารหลักสูตร ประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนเป็นต้น
ขั้นที่ 7  ประเมินหลักสูตร
เป็นการประเมินหลักสูตรทั้งระบบ ทุกขั้นตอน แล้วนำผลจากการประเมินมาพิจารณาร่วมกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน เพื่อตัดสินผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตร และนำผลการประเมินมาปรับปรุงประสิทธิภาพของหลักสูตร
ขั้นที่ 8  ปรับปรุงแก้ไขหลักสูตร
  เป็นการนำผลการประเมินหลักสูตรมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ในกรณีผลการประเมินพบข้อบกพร่องหรือปัญหาอุปสรรคในส่วนปลีกย่อย ผู้พัฒนาหลักสูตรจะดำเนินการปรับปรุงหลักสูตร หากพบข้อบกพร่องหรือปัญหาอุปสรรคในประเด็นใหญ่ ซึ่งจะต้องเปลี่ยนโครงสร้างของหลักสูตรก็จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร

แหล่งอ้างอิง :
        นิรมล  ศตวุฒิ. 2543. การพัฒนาหลักสูตร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์
มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
นิรมล ศตวุฒิ  และคณะ. 2546. ประสบการณ์ภาคสนามในการพัฒนาหลักสูตร
พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.



การพัฒนาหลักสูตร (2)

ความหมายของหลักสูตร
คำว่า “หลักสูตร” มาจากคำภาษาอังกฤษว่า “curriculum” ซึ่งเป็นคำมาจากภาษาละตินว่า “currer” หมายถึง ทางวิ่ง หรือ ลู่วิ่ง  มีผู้ให้ความหมายของหลักสูตรไว้หลากหลาย โดยใช้คำพูดที่แตกต่างกันไปและบางคำพูดก็ให้ความหมายที่เหมือนกัน บางคำพูดก็ให้ความหมายที่แตกต่างกันออกไปบ้าง (นิรมล ศตวุฒิ 2543, 1-3) เช่น
แฟรงกลิน บอบบิท (Frankin Bobbit) 1924 
: หลักสูตรประกอบด้วยสิ่งต่าง ๆ ที่เด็กและเยาวชนต้องทำและได้รับประสบการณ์โดยใช้วิธีการพัฒนาความสามารถในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้ได้ดี เพื่อเป็นประโยชน์กับชีวิตในวัยผู้ใหญ่และมีคุณลักษณะที่ผู้ใหญ่ควรจะมี
โทมัส ฮอปกินส์ (Thomas Hopkins) 1941
: หลักสูตรคืองานออกแบบโดยคนที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับกิจกรรมและชีวิตของเด็กในโรงเรียน มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับชีวิตและการดำรงชีวิต ประกอบด้วยการเรียนรู้ที่เด็กแต่ละคนเลือกรับไว้ และสะสมเป็นประสบการณ์
ราล์ฟ ไทเลอร์ (Ralph Tyler) 1949
: หลักสูตรประกอบด้วยสิ่งที่นักเรียนต้องเรียนรู้ ซึ่งโรงเรียนได้วางแผนและจัดให้บรรลุเป้าหมายทางการศึกษาโดยที่การเรียนรู้จะเกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนมีประสบการณ์ และประสบการณ์เรียนรู้ไม่ใช่เนื้อหาในรายวิชา
จอร์ช โบแชพ (George Beauchamp) 1956
: หลักสูตรหมายถึงงานออกแบบของกลุ่มคนในสังคมเพื่อให้เด็กในโรงเรียนได้รับประสบการณ์ทางการศึกษา
ฮิลดา  ทาบา (Hilda Taba) 1962
: หลักสูตรเป็นแผนสำหรับประสบการณ์ทางการศึกษา การเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับกระบวนเรียนรู้ และการพัฒนาคนจะมีส่วนในการกำหนดหลักสูตร
เจ แกเลน เซเลอร์ และวิเลียมเอ็ม อเลกซานเดอร์ (J.Galen Saylor  and William M.Alexander) 1996&1974
: หลักสูตรหมายถึงโอกาสการเรียนรู้ทั้งหมดที่โรงเรียนจัดให้ หรือเป็นแผนสำหรับให้โอกาสการเรียนรู้เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายทางการศึกษาและวัตถุประสงค์เฉพาะที่เกี่ยวข้องแก่ประชากรในสังคม โดยโรงเรียนแต่ละแห่งเป็นผู้ดำเนินการ
พีเตอร์ โอลิวา (Peter F.Oliva) 1982
: หลักสูตรเป็นแผนหรือโปรแกรมสำหรับประสบการณ์ทั้งหมดที่จะให้ผู้เรียนได้รับโดยโรงเรียนเป็นผู้นำทางให้
แดเนียล แทนเนอร์ และรอเรล แทนเนอร์ (Danial Tanner and Laurel Tanner) 1975
: หลักสูตรประกอบด้วยประสบการณ์การเรียนรู้และผลของการเรียนรู้ที่มีการวางแผนและกำหนดไว้ โดยอาศัยวิธีการให้ความรู้และประสบการณ์ที่มีระบบภายใต้ความรับผิดชอบของโรงเรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีความเจริญงอกงามด้านส่วนตัวและสังคมอย่างต่อเนื่องและมั่นใจ

คำศัพท์เกี่ยวกับหลักสูตร
ในการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับหลักสูตร มีคำศัพท์ที่เกี่ยวกับหลักสูตรที่ผู้ศึกษาควรทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ เพื่อช่วยในการทำความเข้าใจในกระบวนการพัฒนาหลักสูตรโดยตลอด (นิรมล ศตวุฒิ 2543, 5-7) ได้แก่
1. การพัฒนาหลักสูตร (curriculum development) หมายถึง การจัดทำหลักสูตรขึ้นมาใหม่ โดยที่ยังไม่เคยมีหลักสูตรนั้นมาก่อนเลย หรือ การจัดทำหลักสูตรที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้นกว่าเดิมซึ่งต้องดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการและเป็นขั้นตอน
2. การสร้างหลักสูตร (curriculum construction) หมายถึง การจัดหลักสูตรขึ้นมาใหม่ โดยที่ยังไม่เคยมีหลักสูตรนั้นมาก่อน หรือไม่เคยมีหลักสูตรเดิมเป็นรากฐานมาก่อน และต้องดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการและเป็นขั้นตอน
3. การวางแผนหลักสูตร (curriculum planning) หมายถึง การร่างแผนงานการจัดทำหลักสูตรโดยกำหนดเป้าหมายว่าหลักสูตรที่จะจัดทำนั้นทำเพื่อใคร จะพัฒนาบุคลากรเหล่านั้นไปในทิศทางใด ใช้ระยะเวลาการดำเนินการตามหลักสูตรเท่าไร จะมีกระบวนการในการพัฒนาบุคคลเหล่านั้นอย่างไร
4. การออกแบบหลักสูตร (curriculum design) หมายถึง การกำหนดลักษณะและรูปแบบของหลักสูตรให้สอดคล้องกับแผนงานการจัดทำหลักสูตรเพื่อให้หลักสูตรเป็นไปตามเป้าหมายที่วางแผนไว้ รวบรวมข้อมูลที่มีผลต่อการจัดหลักสูตร จัดหารูปแบบการจัดหลักสูตรหลาย ๆ รูปแบบ ทดสอบว่ารูปแบบใดเป็นรูปแบบที่ดีที่สุดที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่วางแผนไว้ในการออกแบบหลักสูตร ผู้พัฒนาหลักสูตรจะต้องตอบคำถามต่อไปนี้
      จะเลือกเนื้อหาอะไร และอย่างไร
      จะจัดเนื้อหาและเรียงลำดับเนื้อหาอย่างไร
     จะถ่ายทอดเนื้อหาอย่างไร
      จะประเมินผลการเรียนรู้อย่างไร
      จะจัดทำเอกสารหลักสูตรอย่างไร
อย่างไรก็ตามคำว่า การวางแผนหลักสูตร และการออกแบบหลักสูตร ได้มีการใช้กันในความหมายเดียวกับ การพัฒนาหลักสูตร และการสร้างหลักสูตรในบางแห่ง กล่าวคือ หมายถึงการดำเนินการจัดทำหลักสูตรอย่างเป็นกระบวนการและเป็นขั้นตอน
5. การจัดหลักสูตร (curriculum organization) หมายถึงการลงมือจัดหลักสูตรตามรูปแบบที่ตัดสินใจเลือกไว้แล้ว โดยดำเนินการตามขั้นตอนของการพัฒนาหลักสูตร ซึ่งรูปแบบของหลักสูตรเป็นอย่างไรนั้นจะแสดงออกให้เห็นชัดเจนในขั้นตอนของการจัดเนื้อหาวิชาและประสบการณ์สำหรับผู้เรียน
6. การวิเคราะห์หลักสูตร (curriculum analysis) หมายถึง การตรวจสอบหลักสูตรแยกทีละส่วนในแต่ละองค์ประกอบของหลักสูตร เพื่อดูให้แน่ใจว่าแต่ละส่วนของหลักสูตรครบถ้วน เหมาะสม หรือยังมีส่วนใดบกพร่องอยู่ เพื่อจะแก้ไขให้ครบถ้วน เหมาะสม และสอดคล้องกันยิ่งขึ้น เป็นการตรวจสอบคุณภาพของหลักสูตร นอกจากนี้การวิเคราะห์หลักสูตร อาจเป็นการตรวจสอบหลักสูตรแยกทีละส่วนเพื่อการเตรียมการสอน และการประเมินผลการเรียนก็ได้
7. การใช้หลักสูตรหรือการนำหลักสูตรไปใช้ (curriculum implementation) หมายถึง การนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติ กล่าวคือ นำหลักสูตรไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน ในสถาบันการศึกษา หรือในสภาพจริง
8. การจัดการและการบริหารหลักสูตร (curriculum management and administration) หมายถึง กระบวนการสนับสนุนและเอื้ออำนวยให้การใช้หลักสูตรบรรลุเป้าหมาย เช่น การประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตร การเตรียมบุคลากร อาคารสถานที่ งบประมาณ การจัดบริการห้องสมุด หน่วยแนะแนว เป็นต้น
9. การปรับหลักสูตร (curriculum adaptation) หมายถึง การนำหลักสูตรไปปรับใช้ให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถาพท้องถิ่น ชุมชน โรงเรียน ผู้เรียน รวมถึงการนำหลักสูตรไปจัดการเรียน
10. การประเมินหลักสูตร (curriculum evaluation) หมายถึง การตัดสินคุณภาพ ประสิทธิภาพ หรือคุณค่าของหลักสูตร ซึ่งต้องมีการกำหนดมาตรฐานสำหรับการตัดสินคุณภาพ รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องแล้วนำมาตรฐานที่กำหนดมาตัดสินคุณภาพข้อมูลเหล่านั้น การประเมินหลักสูตรจะตอบคำถามต่อไปนี้
 หลักสูตรช่วยให้ผู้เรียนบรรลุจุดมุ่งหมายทางการศึกษาได้ดีเพียงไร
 การใช้หลักสูตรดำเนินการได้ดีเพียงไร
11. การปรับปรุงหลักสูตร (curriculum improvement) หมายถึง การแก้ไขหลักสูตรให้ดีขึ้นเหมาะสมขึ้นหลังจากที่ประเมินหลักสูตรแล้วพบข้อบกพร่องเป็นการแก้ไขเฉพาะประเด็นที่พบข้อบกพร่อง โดยไม่ได้กระทบกับโครงสร้างของหลักสูตร
12. การเปลี่ยนแปลงหลักสูตร (curriculum change) หมายถึง การนำหลักสูตรใหม่มาใช้แทนหลักสูตรเดิม เนื่องจากหลักสูตรเดิมมีข้อบกพร่องมาก หรือล้าสมัยไปแล้ว จึงต้องยกเลิกแล้วจัดทำหลักสูตรใหม่มาทดแทนหลักสูตรเดิม

ส่วนประกอบของหลักสูตร
ในการจัดทำหลักสูตร  ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรระดับใดก็ตาม จะต้องกำหนดรายละเอียดของหลักสูตรตามส่วนประกอบ (นิรมล ศตวุฒิ 2543, 10-11) ดังนี้
1. หลักการ  เป็นเป้าหมายปลายทางของหลักสูตรนั้น จะบอกให้รู้ว่าหลักสูตรนั้น ๆ จัดขึ้นเพื่ออะไร ซึ่งจะกำหนดไว้ในลักษณะเชิงปรัชญาของหลักสูตร
2. จุดมุ่งหมาย แสดงความคาดหวังของหลักสูตรว่าผู้ที่เรียนจบหลักสูตรนี้แล้วจะมีคุณลักษณะอย่างไร
3. จุดมุ่งหมายเฉพาะ หรือจุดประสงค์ของกลุ่มวิชาและรายวิชา ระบุเฉพาะเจาะจงถึงคุณลักษณะของผู้เรียนเมื่อผู้เรียนจบแต่ละกลุ่มวิชา และแต่ละรายวิชา
4. โครงสร้างของหลักสูตร  แสดงภาพรวมของทั้งหลักสูตรว่าได้จัดเนื้อหาและประสบการณ์ของหลักสูตรในลักษณะใด สัดส่วนของเนื้อหาและประสบการณ์ที่จะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เป็นอย่างไร ระยะเวลาการจัดการเรียนการสอนแสดงการแบ่งเวลาที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนแต่ละเนื้อหาความรู้และประสบการณ์การเรียนรู้ และเวลาโดยรวมที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนตลอดหลักสูตร
5. เนื้อหาหลักสูตร  ประกอบด้วย ขอบเขตเนื้อหาความรู้ที่จะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผู้เรียนจะได้รับจากการได้ลงมือทำหรือปฏิบัติ และกิจกรรมการเรียนการสอนที่เป็นแนวทางหรือวิธีการที่จะช่วยให้ผู้เรียน เรียนรู้เนื้อหาและประสบการณ์ต่าง ๆ
6. การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  ประกอบด้วยแนวทางหรือวิธีการวัดผลและประเมินผลว่าผู้เรียนได้บรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้ จุดประสงค์รายวิชา จุดประสงค์กลุ่มวิชา และจุดมุ่งหมายของหลักสูตรแล้วหรือยัง รวมถึงระยะเวลาการประเมินผล
7. แนวทางการใช้หลักสูตร  ให้คำแนะนำแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการใช้หลักสูตร ให้ใช้หลักสูตรได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของหลักสูตร

            สำหรับกระบวนการพัฒนาหลักสูตรสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากบทความในเว็บบล็อก การพัฒนาหลักสูตร (3) : กระบวนการพัฒนาหลักสูตร

แหล่งอ้างอิง :
        นิรมล  ศตวุฒิ. 2543. การพัฒนาหลักสูตร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์
มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
นิรมล ศตวุฒิ  และคณะ. 2546. ประสบการณ์ภาคสนามในการพัฒนาหลักสูตร
พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
วัชรี  บูรณสิงห์. 2544. การบริหารหลักสูตร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์
มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

การพัฒนาหลักสูตร (1)

ความหมายของคำว่า "ทรัพยากรมนุษย์"
ดร. ชัยยงค์ พรหมวงศ์ : ทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง มนุษย์ในฐานะทรัพยากร หรือ มนุษย์เป็นทรัพยากร

ความหมายของคำว่า "การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์"

ดร. ชัยยงค์ พรหมวงศ์ : การทำคนให้เป็นคนโดยสมบูรณ์ โดยให้ความรู้ ความส ามารถและคุณธรรมเต็มตามศักยภาพที่แต่ละคนจะพึงมี

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับชาติ
การกำหนดนโยบายและแผนตลอดจนโครงการและกิจกรรม มีการจัดสรรงบประมาณให้แก่องค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาประชาชนให้มีคุณค่าในด้านต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น มีสุขภาพดี มีการศึกษาดี  มีความรู้ดี มีจิตใจดี มีคุณธรรม และมีทักษะที่เหมาะสมกับความต้องการของระบบเศรษฐกิจและสังคม
    
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับองค์กร
กระบวนการพัฒนาบุคลากรขององค์กรให้มีความรู้ มีประสิทธิภาพ และมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานมากยิ่งขึ้น ทำให้ตัวบุคคลและองค์กรมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ขององค์กร หรือของโครงการ หรือกิจกรรม   แต่ละกิจกรรมขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ

การดำเนินการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในแง่ที่เป็นทรัพยากร
1. พัฒนามนุษย์ให้เป็นคนคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น มีคุณธรรม จริยธรรม มีเหตุผล มีความรับผิดชอบในหน้าที่การงานของตนและสังคม
2. พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยการให้ประชาชนอันเป็นทรัพยากรสำคัญมีความสามารถในการจัดการนโยบายในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยดำเนินการ ดังนี้
     2.1 กำหนดนโยบายทางการคลังและเศรษฐกิจในการให้ประชาชนมีงานทำในรูปแบบต่าง ๆ
     2.2 พัฒนาชุมชนเพื่อให้ประชาชนได้มีงานทำในชนบทอย่างพอเพียง ไม่ต้องดิ้นรนไปหางานที่อื่นทำ
     2.3 ดำเนินการศึกษาตลอดชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีทางเลือกที่จะศึกษาหาความรู้ได้ตามใจชอบ ทุกเวลา ทุกโอกาส และทุกสถานที่ โดยไม่ต้องลากออกจากงานที่กระทำอยู่
3. พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ โดยการรักษาและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้ได้ใช้ทรัพยากรให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศให้มากที่สุด
4. พัฒนาบริการสังคม โดยการให้การบริการสาธารณูปโภคในด้าน  ต่าง ๆ เช่น การสาธารณสุข การสังคมสงเคราะห์ และสวัสดิการต่าง ๆ แก่ประชาชน เพื่อให้มีสุขภาพ พลานามัย และความเป็นอยู่ที่ดี

ประเภทหรือรูปแบบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มี 4 ประเภท หรือ 4 รูปแบบ ดังนี้
1. พัฒนาด้วยตนเอง
2. พัฒนาด้วยการศึกษาเล่าเรียน
3. พัฒนาด้วยการฝึกอบรม
4. พัฒนาด้วยการพัฒนาสภาพแวดล้อม

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยการฝึกอบรม
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยการฝึกอบรมเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นเพราะเหตุผล ดังต่อไปนี้
1. เป็นกระบวนการศึกษาตลอดชีวิต
2. เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาองค์กร
3. ช่วยให้บุคลากรได้รับการพัฒนา เกิดความรู้ ความชำนาญ ตลอดจนเจตนคติที่ดี ทำให้การปฏิบัติงานได้ผลดีและมีประสิทธิภาพ
4. เป็นหัวใจของนโยบายการบริหาร
5. เป็นส่วนสำคัญของการนิเทศงาน
6. เป็นการสร้างคุณภาพของบุคคล พัฒนาบุคคลในระดับและกลุ่มวิชาชีพสาขาต่าง ๆ

ขั้นตอนในการสร้างหลักสูตรฝึกอบรม
การสร้างหลักสูตรฝึกอบรมในสาขาวิชาชีพใด ๆ ก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีขั้นตอนหรือองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้
1. สำรวจข้อมูลพื้นฐาน
2. การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจข้อมูลพื้นฐาน
3. ร่างหลักสูตร ประกอบด้วย ชื่อหลักสูตร ผู้รับผิดชอบโครงการ หลักการของหลักสูตร จุดมุ่งหมายของหลักสูตร กำหนดการอบรม ผู้อบรมหรือวิทยากร ผู้เข้าอบรม ระยะเวลาการอบรม สถานที่อบรม หลักสูตร (โครงสร้างหลักสูตร และเนื้อหาที่จะใช้อบรม) การประเมินผลการอบรม การประเมินหลักสูตร
     สำหรับขั้นตอนหรือกระบวนการในการสร้างหลักสูตรหรือพัฒนาหลักสูตรสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากบทความในเว็บบล็อก : การพัฒนาหลักสูตร (2) : ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตร/ การพัฒนาหลักสูตร (3) : กระบวนการพัฒนาหลักสูตร/ การพัฒนาหลักสูตร (4) : หลักสูตรระยะสั้น

แหล่งอ้างอิง :
        นิรมล  ศตวุฒิ. 2543. การพัฒนาหลักสูตร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์
มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
นิรมล ศตวุฒิ  และคณะ. 2546. ประสบการณ์ภาคสนามในการพัฒนาหลักสูตร
พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
วัชรี  บูรณสิงห์. 2544. การบริหารหลักสูตร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์
มหาวิทยาลัยรามคำแหง.